ครั้งแรกในรอบ 10 ปี เปิดกรุสมบัติความหลากหลายทางชีวภาพ ในแถบลุ่มน้ำโขง องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เผยรายงานล่าสุดของการค้นพบสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่ครั้งสำคัญกว่า 1,000 ชนิด ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาบริเวณประเทศแถบลุ่มน้ำโขง มีทั้งกิ้งกือมังกรสีชมพู หนูคะยุที่เคยคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วนับล้านปี รวมทั้งแมงมุมขาขาวที่ใหญ่สุดในโลก
เฟิร์ส คอนแทคต์ อิน เดอะ เกรทเตอร์ แม่โขง (First Contact in the Greater Mekong) เป็นรายงานฉบับพิเศษครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่รวบรวมชนิดพันธุ์พืช และสัตว์ที่ถูกค้นพบใหม่จำนวน 1,068 ชนิด ในแถบลุ่มน้ำโขง และยังไม่เคยมีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการมาก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของลุ่มน้ำแห่งนี้
ทั้ง นี้ มีการค้นพบ สายพันธุ์ใหม่ถึง 2 ชนิดพันธุ์ใน 1 สัปดาห์ โดยสรุปชนิดพันธุ์พืชที่ถูกค้นพบได้ถึง 519 ชนิด ปลา 279 ชนิด กบ 88 ชนิด แมงมุม 88 ชนิด จิ้งจก 46 ชนิด งู 22 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 15 ชนิด เต่า 4 ชนิด นก 4 ชนิด ซาลาเมนเดอร์ 2 ชนิด คางคก 1 ชนิด และคาดว่าจะมีสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอีกนับพันชนิด ที่ถูกค้นพบ
“ไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่านี้อีกแล้ว เราคิดว่ามันสมควรที่จะต้องถูกบันทึกเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ทาง ธรรมชาติวิทยา และเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศในแถบลุ่มโขง นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการอนุรักษ์ในระดับโลก” บทสรุปชัดเจนจาก สจ๊วต แชปแมน ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ของดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ เกรทเตอร์ แม่โขง (WWF Greater Mekong)
การค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่เหล่านี้ ไม่แตกต่างไปจากการค้นพบแผ่นดินใหม่บนโลกใบนี้ ตัวอย่างเช่น หนูคะยุ (Laotian rock rat) ซึ่งเป็นหนูชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บนเขาหินปูน ที่เราคิดว่าสูญพันธุ์ไปเมื่อ 11 ล้านปีที่แล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์กลับพบโดยบังเอิญในตลาดสดเล็กๆ แห่งหนึ่งในประเทศลาว หรือการเจองูเขียวหางใหม้ท้องเขียวใต้ (Siamese Peninsula pitviper) ที่กำลังเลื้อยผ่านนักท่องเที่ยวในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่อุทยานแห่งชาติเขา ใหญ่ ในประเทศไทย
นอกจากนั้นยังพบแมงมุมขายาว (Huntsman spider) ซึ่งเป็นแมงมุมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยขาแต่ละข้างยาวถึง 30 ซ.ม. ลองคิดดูถ้า ขาทั้ง 8 ของแมงมุมชนิดนี้กางออกพร้อมกัน ขนาดของมันจะใหญ่เพียงใด หรือกิ้งกือมังกรสีชมพู (Dragon millipede) ที่มีลำตัวสีชมพูจัดจ้านแต่แฝงไปด้วยพิษของไซยาไนด์ที่มันสร้างขึ้นมาเพื่อ ป้องกันตัวเอง
“นี่คือการยืนยันความมหัศจรรย์ในความหลากหลายทางชีวภาพ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเสมือนชุมทางหรือจุดเชื่อมต่อของ ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทย คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะชนิดพันธุ์ต่างๆ ในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ มีการกระจายมาจากเทือกเขาหิมาลัย แม่น้ำโขง ทะเลอันดามัน และระบบนิเวศอื่นๆ อีกมากมาย” ดร.วิลเลี่ยม เชดล่า ผู้อำนวยการ WWF ประเทศไทย ย้ำบันทึกหน้าสำคัญที่จะกลายเป็นประวัติธรรมชาติวิทยาของโลก
“มีการรับรู้และเข้าใจที่ผิดๆ ที่ว่าภูมิภาคนี้ ไม่มีความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรจึงถูกคุกคามบนความไม่รู้มาก่อน แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว เกือบทุกครั้งที่ออกไปสำรวจมักจะพบกับความหลากหลายของชนิดพันธุ์ใหม่ๆ แต่โชคร้ายว่า การสำรวจจะต้องแข่งขันกับการคุกคามที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว” ราอูล เบน ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งอเมริกา แสดงความเห็นที่ต้องขบคิด
วันนี้ สายน้ำและผืนป่าที่โอบอุ้มความร่ำรวยของความหลากหลายทางชีวภาพอันล้ำค่า กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตท่ามกลางความกดดันและแรงบีบคั้นจากการพัฒนาทาง เศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการที่จะปกป้องรักษาสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคง ในการดำรงอยู่ของมนุษย์โดยการลดปัญหาความยากจน และการสร้างความเชื่อมั่นที่จะเป็นหลักประกันในการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์และ ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ในแถบประเทศลุ่มน้ำโขง
ขณะ นี้องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ได้ประสานงานกับรัฐบาล และภาคอุตสาหกรรมของประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า และจีน (ตอนใต้) ในการวางแผนการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน ครอบคลุมพื้นที่ที่ต่อเนื่องกันกว่า 600,000 ตารางกิโลเมตร เพื่อดำเนินการอนุรักษ์ผืนป่า และแหล่งน้ำจืด อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่มีความโดดเด่น แต่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ข้อตกลงร่วมกันระหว่าง 6 ประเทศ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วนอย่างยิ่ง
“ไม่มีใครรู้ว่าจะมีการค้นพบชนิดพันธุ์อะไรอีกในดินแดนแถบนี้ แต่ที่แน่ๆ ทุกคนรับรู้ว่า ยังมีสัตว์และพืชอีกมากมายที่ยังรอการถูกค้นพบ โลกวิทยาศาสตร์ของเราเพิ่งจะเริ่มทำความรู้จักกับสิ่งที่ผู้คนในภูมิภาคแห่ง นี้คุ้นเคยมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ”สจ๊วต กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น